วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัตกรรมอิฐมวลเบาด้วยเศษโฟม


สมบูรณ์ คงสมศักดิ์ศิริ พลิกตำรารีไซเคิลวัสดุ วิจัยนวัตกรรมอิฐมวลเบาด้วยเศษโฟม



หลายปีที่ผ่านมา "อิฐมวลเบา" (คอนกรีตมวลเบา) กลายเป็นวัสดุทดแทนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญประมาณ 3 เท่า และก่อผนังได้รวดเร็ว อิฐมวลเบาแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีขายปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่มาจากเครื่องจักรต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้มีอิฐมวลเบาหรือบล็อกคอนกรีตมวลเบาที่มาจากการคิดค้นโดยคนไทยแล้ว ผลงานของ "ผศ.สมบูรณ์ คงสมศักดิ์ศิริ" อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วัย 57 ปี ที่ใช้เวลาค้นคว้าเกี่ยวกับการนำวัสดุรีไซเคิลมาพัฒนาเป็น "นวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง" เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนธรรมชาติ

กว่า 5 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2548 "อ.สมบูรณ์" ใช้เวลาศึกษาและพัฒนา อย่างจริงจัง มีวัสดุทดแทนเกิดขึ้นแล้ว 11 รายการ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นมาสเตอร์พีซคือ "อิฐมวลเบา" ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้งอย่าง "เศษโฟม" มารีไซเคิล โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และบริษัท โปลิโฟมอุตสาหกรรม จำกัด จนกลายเป็นอิฐมวลเบาที่นำมาก่อผนังได้จริง มีความแข็งแรงได้ตามมาตรฐานและค่าการดูดซึมน้ำต่ำ

ความยากอยู่ที่การวิจัยเพื่อหาส่วนผสมวัตถุดิบที่ลงตัว เพื่อให้ได้อิฐคอนกรีตมวลเบาที่มีค่าการรับน้ำหนักได้มาตรฐานและมีอัตราดูดซึมน้ำต่ำ

"จุดเริ่มต้นการคิดค้นอิฐมวลเบา มาจากแนวคิดที่อยากนำวัสดุเหลือทิ้งอย่างเศษโฟมมารีไซเคิล แทนที่จะนำไปเผาทำลายกลายเป็นมลภาวะ และได้ใช้อิฐมวลเบาที่พัฒนาขึ้นเองมาก่อสร้างเป็นบ้านจำลองขนาดย่อมอยู่ภายในพระจอมเกล้าพระนครเหนือมานาน 5 ปีแล้ว และสภาพบ้านก็ยังดีไม่มีปัญหาผนังแตกร้าว" ผศ.สมบูรณ์บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

ทั้งนี้ การรับน้ำหนักของอิฐมวลเบามีการอ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. อย่างมาตรฐานกำหนดว่าต้องรับน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 25 KSC (กิโลกรัม/ตร.ซม.) แต่สำหรับคอนกรีตมวลเบาที่ผลิตสามารถรับน้ำหนักได้สูงกว่ามาตรฐานคือ 50 KSC และมีอัตราดูดซึมน้ำ 10% ต่ำกว่าอิฐมวลเบาบางยี่ห้อในตลาด

โดยอิฐมวลเบาขนาด (กว้าง-ยาว-หนา) 10 x 25 x 12.5 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายบล็อกคอนกรีตทั่วไป ถูกออกแบบให้มีรูตรงกลางสำหรับเทปูนซีเมนต์ เพื่อเป็น ตัวประสานบล็อกแต่ละก้อน แต่ละก้อนมีน้ำหนักประมาณกว่า 1 กิโลกรัมจึงเคลื่อนย้ายสะดวก

การเลือกใช้เศษโฟมรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสม ยังมีข้อดีในเรื่องการประหยัดพลังงาน เพราะมีคุณสมบัติเป็นฉนวน เฉลี่ยแล้วประหยัดแอร์ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% และช่วยเก็บความเย็นภายในห้องได้อีกนานหลายชั่วโมงหลังจากปิดแอร์ ส่วนต้นทุนการผลิตก็ถือว่าถูกมาก

"ผมคำนวณออกมาแล้ว มีต้นทุนประมาณก้อนละไม่เกิน 5 บาทเท่านั้น"

ข้อดีของอิฐมวลเบาที่ผลิต คือสะดวกต่อการนำมาก่อผนัง เพราะสามารถใช้ปูนซีเมนต์ทั่วไป ต่างจากอิฐมวลเบาหลายยี่ห้อในตลาดที่ต้องใช้ปูนซีเมนต์สูตรพิเศษโดยเฉพาะเท่านั้น

"หลังจากนี้ ผมก็มองเรื่องการจดอนุสิทธิบัตรไว้ เพราะคงไม่คิดผลิตขายเอง แต่ถ้ามีคนสนใจ คงเป็นลักษณะการซื้อขายลิขสิทธิ์มากกว่า"

"อ.สมบูรณ์" บอกว่า นอกจากฐมวลเบา ยังมีวัสดุทดแทนอื่น ๆ ที่มีความคิดว่าจะจดอนุสิทธิบัตรอีก 2 ตัว คือ 1) บล็อกดินมวลเบา และ 2) ไม้เทียมที่ผลิตจากกระดาษถ่ายเอกสารนำมารีไซเคิล

"ผมตั้งใจจะพัฒนาบล็อกดินเหนียว มวลเบาให้สำเร็จ เพื่อให้กลายมาเป็นวัสดุ ที่สามารถนำไปก่อผนังได้ง่าย เพราะมีน้ำหนักเบาและออกแบบรูสำหรับหยอด ปูนซีเมนต์ไว้ให้"

ความฝันของอาจารย์ คือแค่มีความรู้เรื่องช่างติดตัวเล็กน้อย ก็สามารถก่อผนังเองได้ !

ที่มา http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02rea01190753&sectionid=0217&day=2010-07-19

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น